BPP ส่งเสริม ‘Sense of Ownership’ บริหารธุรกิจระหว่างประเทศมูลค่าแสนล้าน

29 พฤศจิกายน 2566 17.19 น.
อ่าน 2,217 ครั้ง
 

การเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวเข้าสู่การเติบโตที่ยั่งยืน มีหนึ่งพื้นฐานที่สำคัญ คือ การสร้าง “คน” ให้มีแนวคิดขับเคลื่อนการเติบโตของตัวเองไปพร้อมกับองค์กร เช่นเดียวกับบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ที่สามารถขยายพอร์ตธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายในระยะเวลา 3 ปีของ กิรณ ลิมปพยอม ที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากสินทรัพย์มูลค่า 5 หมื่นล้านบาทจนมาแตะระดับแสนล้านในปัจจุบัน ด้วยการขยายอาณาจักรธุรกิจใน 8 ประเทศทั่วโลก โดยใช้คีย์แมนคนไทยกลุ่มเล็ก ๆ ที่ผูกรวมการสร้างคุณค่าของตนเองกับองค์กรเป็นหนึ่งเดียว

 

 

“คนหรือบุคลากร เป็นกำลังสำคัญ ซึ่งเราเน้นที่การสร้าง ‘Sense of Ownership’ เชื่อหรือไม่ว่าพนักงานของ BPP หรือคีย์แมนของเราที่ช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าและเติบโตมีเพียงประมาณหลักสิบ แต่สร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะทุกคนช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน” กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

 รู้สึกร่วมจาก ‘Trust’ ไว้ใจและเชื่อมือ

BPP เข้าใจในการจับคู่คนให้ถูกกับงาน ดึงจุดแข็งแต่ละคนมาสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเปิดโอกาสและส่งเสริมการทำงานของคีย์แมนในทุกตำแหน่ง (Empowerment) โดยในระยะหลัง BPPไว้วางใจให้คีย์แมนรุ่นใหม่รับมอบหมายงานที่สำคัญ อย่างเช่น การเป็นตัวแทนจากสำนักงานใหญ่ไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ที่ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญต่อการเติบโตของบริษัทฯ เพื่อให้ตัวพนักงานเองได้ปลดล็อกศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของให้เขาได้งัดเอาทั้งทักษะความชำนาญทางเทคนิค รวมทั้งทักษะการบริหารคนและสถานการณ์มาใช้ โดยมีความสำเร็จของงานเป็นเป้าหมายปลายทาง

ในครั้งที่หน่วยผลิตหนึ่งของโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) สปป.ลาว ซึ่ง BPP ถือหุ้นอยู่เกิดเหตุชำรุดและต้องหยุดแก้ไขเพื่อให้กลับมาผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิตให้ไวที่สุด เราจึงมอบหมายให้คีย์แมนที่เป็นวิศวกรไฟฟ้าของ BPP หนึ่งคนไปเข้าร่วมการบำรุงรักษาประจำปีกับทีมงานท้องถิ่น โดยนำประสบการณ์ด้านการทำงานร่วมกับผู้รับเหมาต่างชาติ ความรู้เชิงเทคนิคในการตรวจสอบ วิเคราะห์ และการซ่อมเครื่องไปแชร์กับทีมงาน ซึ่งช่วยทำให้การทำงานราบรื่นและรวดเร็วมากขึ้น โรงไฟฟ้าสามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตได้ตามปกติภายในกำหนดเวลา

 

 

นอกจากนี้ เรายังส่งคีย์แมนในแผนกบริหารสินทรัพย์ที่มีแพชชั่นในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในโรงไฟฟ้า ไปเรียนรู้และทำงานกับทีมงานท้องถิ่นที่โรงไฟฟ้าของ BPP ในสหรัฐฯ เพื่อทำงานเดิมที่เขาถนัด และงานที่ไม่ตรงกับสายงานวิศวกรรมเครื่องกลที่เขาเชี่ยวชาญ คือ งานด้านความยั่งยืน ที่เรามอบหมายให้เขาเป็นผู้ประสานงานในการจัดเตรียมและตรวจสอบข้อมูลทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความยั่งยืนของโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ รวมถึงการค้นหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตในโรงไฟฟ้าของเราที่นั่นได้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

“โรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ใน 2 ประเทศที่เราส่งคีย์แมนไป ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญในการสร้างกระแสเงินสดให้ BPP ที่สปป.ลาว เป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างส่วนแบ่งกำไรให้ BPP จำนวนมากในปีที่ผ่านมา สำหรับที่สหรัฐฯ นั้น เป็นโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้ามากที่สุดในปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้ให้ BPP มากที่สุดเช่นกัน ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท แต่ทำไมเราถึงกล้าส่งวิศวกรหนุ่มไปลุยงาน เพราะที่นี่เรายึดถือเรื่องความไว้ใจกันในการทำงาน ผมเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ มีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ และตั้งใจทำงานออกมาให้ดีที่สุด โดยที่ไม่ต้องคอยกำกับในทุกรายละเอียด แต่เปิดโอกาสให้ตัดสินใจภายใต้กรอบความรับผิดชอบ การได้รับมอบหมายงานที่สำคัญจะทำให้เขาได้เรียนรู้ และฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ เกิดความภาคภูมิใจในการทำงานที่สามารถสร้างคุณค่าให้ทั้งตัวเองและองค์กรไปได้พร้อม ๆ กัน” กิรณกล่าวถึงการเชื่อใจในศักยภาพของทีม

รู้สึกร่วมจากการ ‘Connect’ สื่อสาร เห็นภาพเดียวกันเสมอ 

การสื่อสารใน BPP เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงอัปเดตความคืบหน้าแต่ยังเป็นการช่วยกันระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที ทัศนคติที่เชื่อว่าสามารถทำได้ (Can-do attitude) และความทุ่มเทของทีมที่บ่มเพาะจากการถ่ายทอดของผู้บริหารด้วยการเป็นแบบอย่าง (Role Model) ที่ดี เป็นส่วนสนับสนุนให้ BPP ก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ มาได้

"ถึงแม้คีย์แมนของเราส่วนใหญ่จะเป็นสายวิศวกรรม แต่ก็ปล่อยเครื่องจักรทำงานตามระบบอย่างเดียวไม่ได้ คนที่ทำหน้าที่ควบคุมต้องคุยกันเสมอ ผู้บริหารทุกระดับ หน่วยงานด้านวิศวกร หน่วยงานด้านบริหารสินทรัพย์ และหน่วยงานสนับสนุน ทุกคนต้องเห็นภาพสำเร็จเดียวกัน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถปิดดีลใหญ่ ๆ ได้สำเร็จ อย่างที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต้องทำงานจากที่บ้าน (WFH) 100% แต่เรายังสามารถปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐฯ มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทได้ นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในรอบหลายปีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุด ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรค ตราบใดที่มีความตั้งใจและความพยายาม”

ทั้งนี้ เป้าหมายของ BPP ในการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าให้ถึง 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 เราก็ต้องย้ำการสื่อสารอยู่อย่างต่อเนื่อง ให้ทุกคนเข้าใจและเห็นภาพใหญ่ร่วมกัน พร้อมใจจะไปให้ถึงได้ตามเป้า

รู้สึกร่วมจาก ‘โอกาสดี ๆ ที่สร้างประสบการณ์และเสริมความผูกพัน (Employee Experience & Engagement)

ไม่เพียงแต่การทำงานที่เข้มข้นด้วยการให้คุณค่าและสร้างความภาคภูมิใจ แต่ BPP ยังตั้งใจสร้างความสุขและความพึงพอใจให้คีย์แมน ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง เพื่อให้เกิดความผูกพันและอยากร่วมงานกันในระยะยาว

 

 

ทุกเดือน จะมีช่วงเวลาแห่งความผ่อนคลาย (Relax Session) ที่ทุกคนมาร่วมทานอาหารว่างกันแบบสบาย ๆ 2-3 ครั้ง โดย CEO จะมาพูดคุยกับคีย์แมนว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทฯ บ้าง ในแง่มุมที่พวกเขาอาจจะยังไม่เคยทราบ ซึ่งเขาก็สามารถแสดงความคิดเห็นและสื่อสารกับ CEO ได้โดยตรง ช่วยลดช่องว่างการเข้าถึง และเพิ่มความเชื่อมั่นในผู้บริหาร รวมถึงเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในองค์กร

“ประสบการณ์ที่ดีไม่ควรเกิดขึ้นกับคู่ค้าหรือลูกค้าเท่านั้น แต่กับพนักงานที่เป็นคีย์แมน เราก็ต้องทำให้เกิดขึ้นทุกจุดที่เขาได้มีประสบการณ์ร่วมกับบริษัทฯ (Touchpoint) เช่นกัน เราให้เขามีส่วนร่วมในการออกแบบแผนพัฒนาตนเอง ที่ตอบโจทย์ทั้งการทำงานและความสนใจของเขาเองในหลากหลายรูปแบบ ในขณะที่วัฒนธรรมองค์กร “บ้านปู ฮาร์ท” ยังสามารถหล่อหลอมทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียว และมีความเคารพซึ่งกันและกัน จึงก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นกันเอง มีความร่วมแรงร่วมใจกันในการทำงาน เรายังปลูกฝังเรื่องการยอมรับความแตกต่างให้คีย์แมนทุกคน เพราะเขาต้องทำงานร่วมกับทีมงานในต่างประเทศที่ไม่เหมือนเราทั้งภาษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดพลังร่วมในองค์กร”

 

 

การสร้าง “คน” ให้มี ‘Sense of Ownership’ ความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าขององค์กรไม่ใช่เรื่องง่าย ความแตกต่างของอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริบทภายในของแต่ละองค์กร เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้วิธีการในการสร้างเรื่องดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จนั้น แตกต่างกันออกไป ซึ่งการค้นหาวิธีการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แม้จะต้องใช้ความทุ่มเท ความพยายาม และเวลา แต่ผลลัพธ์นั้นคุ้มค่าอย่างมหาศาล ดังเช่นผลสำเร็จของ BPP ที่ทุกคนมีจุดมุ่งหมาย (Purpose) เดียวกัน มองเห็นคุณค่าร่วมกัน และสร้างความยั่งยืนให้ทั้งคนและองค์กรไปด้วยกัน

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com

- Advertisement -
- Advertisement -

RELATED

- Advertisement -
- Advertisement -
- Advertisement -
- Advertisement -
- Advertisement -

Lasted

  • 55 ปี กฟผ. มอบส่วนลด 5,555 สิทธิ์ ตู้เย็นเบอร์ 5 แบบใหม่ ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ 1 พ.ค. – 30 ก.ย. นี้
    29 เม.ย. 2567 19.25 น.
  • กกพ. มอบโล่ แก่โรงไฟฟ้าโครงการพัฒนาเกณฑ์ดัชนีชี้วัดความยั่งยืน โรงไฟฟ้าประเทศไทย
    26 เม.ย. 2567 15.19 น.
  • ผู้บริหารบางจากฯ เชิญชวน “ลด ละ เริ่ม” เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of Thailand
    26 เม.ย. 2567 14.41 น.
  • รัฐ-เอกชน เสวนา โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ต้องเป็นธรรมทุกภาคส่วน
    25 เม.ย. 2567 15.50 น.
  • “สมาคมเพื่อนชุมชน” ถ่ายทอด แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก ดันระยองสู่ “เมืองสังคมคาร์บอนต่ำ”
    25 เม.ย. 2567 15.19 น.

Most Viewed

  • "อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" คว้าสุดยอดผู้นำองค์กรแห่งปี
    20 มิ.ย. 2566 21.47 น.
  • สนพ. เผยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
    22 พ.ค. 2566 18.13 น.
  • 54 ปี กฟผ. เดินหน้าผลิตไฟฟ้าสีเขียว รุกขยายโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อน
    01 พ.ค. 2566 09.50 น.
  • แม่ฮ่องสอน..สู่เมืองท่องเที่ยวสีเขียว ชู "โซลาร์ฟาร์มสมาร์ทกริด" พร้อมจ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ววันนี้
    25 พ.ค. 2566 17.14 น.
  • ‘ผลิต-ไฟฟ้าลาว’ มั่นใจผลงานปีนี้เติบโตเด่น รับดีมานด์ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคเพิ่ม
    03 พ.ค. 2566 13.56 น.