บ้านปูฯ เผยแผนธุรกิจ 5 ปี ต่อยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter

25 กุมภาพันธ์ 2564 15.53 น.
อ่าน 1,919 ครั้ง
 
บ้านปูฯ เผยแผนธุรกิจ 5 ปี ต่อยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter เร่งการเปลี่ยนผ่าน ขยายการเติบโตสู่อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน
 
 
 

เปิดแผนธุรกิจ 5 ปี เดินหน้ากลยุทธ์ Greener & Smarter ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลทั่วองค์กร เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ขยายการเติบโตสู่พลังงานสะอาดรองรับเทรนด์แห่งโลกอนาคต มุ่งนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานครบวงจรด้วยระบบนิเวศทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง เพื่อเป้าหมายสร้างพลังงานที่ยั่งยืนให้กับโลก
 
 
 

.
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ รายงานผลการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ที่ยังคงสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินมาตรการลดต้นทุน และบริหารงบลงทุนอย่างรัดกุมเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส หรือ โควิด-19 ตลอดจนสร้างความต่อเนื่องในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ (Banpu Transformation) สู่โลกยุค Never Normal ด้วยแผนธุรกิจ 5 ปี ฉบับใหม่ สำหรับปี 2564 – 2568 ที่ต่อยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่าน เดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนด้านพลังงาน ด้วยการขยายพอร์ตพลังงานสะอาดและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานที่ตอบรับกับเทรนด์พลังงานโลก พร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงด้วยระบบนิเวศทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง
 
 
 
 
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลการดำเนินธุรกิจพลังงานในปี 2563 สะท้อนความท้าทายจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจโลกและทุกภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งความต้องการด้านพลังงานโลกในภาพรวมลดลง แม้กระนั้น เรายังคงสามารถปรับกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สามารถรับมือกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับวิถีใหม่ของโลกในยุค Never Normal และยังประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจในการเดินหน้า Banpu Transformation เพื่อเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่เป้าหมายของความยั่งยืนด้านพลังงาน ทั้งในด้านการเพิ่มสัดส่วนพอร์ตฟอลิโอพลังงานสะอาดและฉลาด ผ่านบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่ตอบรับกับเทรนด์พลังงานแห่งโลกอนาคต สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด และการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างชาญฉลาด”
 
 
 
 
“ในปี 2564 นี้ บ้านปูได้กำหนดแผนธุรกิจ 5 ปี ฉบับใหม่ สำหรับปี 2564 – 2568 ซึ่งประกอบด้วย 3 แกนหลักคือ Acceleration - เร่งสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ใน 4 ธุรกิจหลัก คือธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจเหมือง ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน Antifragile – รับมือกับความเปลี่ยนแปลงและวงจรเศรษฐกิจโลกผ่านพอร์ตโซลูชันด้านพลังงานที่ครบวงจร โดยกระจายความเสี่ยง และคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และ Augmentation - ต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจปัจจุบันและความเชี่ยวชาญในด้านพลังงานเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานที่สอดคล้องกับเทรนด์พลังงานในอนาคตได้รวดเร็วและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”
 
 
 
 
ทั้งนี้ ภายใต้แผนธุรกิจ 5 ปี สำหรับปี 2564 – 2568 มีแนวทางการดำเนินการในกลุ่มธุรกิจหลักทั้ง 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ทางด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จะมุ่งสร้างประสิทธิภาพสูงสุด โดยผสานพลังร่วมระหว่างแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่ง โดยจะรักษากำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 700 ลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติต่อวัน รวมทั้งการคว้าโอกาสเมื่อสถานการณ์ราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้น ด้วยการประกันความเสี่ยงการลงทุน (Hedging) และสร้างความยืดหยุ่นในงบลงทุน (CAPEX Flexibility)
 
 
 
 
นอกจากนี้ จากการที่บริษัท Oaktree Capital Management L.P. (โอ๊คทรี) บริษัทบริหารกองทุนระดับโลก เข้ามาร่วมลงทุนกับ BKV Corporation ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปู จะช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจต้นน้ำ และต่อยอดการเติบโตของธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ
ของบริษัทฯ สำหรับแนวทางในอนาคต จะมองหาโอกาสการลงทุนต่อยอดในธุรกิจกลางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจ สอดรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนธุรกิจเหมือง มุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดในช่วงราคาถ่านหินเพิ่มสูง บริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเพิ่มการจัดซื้อถ่านหินจากผู้ผลิตรายอื่นร่วมด้วย (Coal Trading) เพื่อให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าแต่ละราย นอกจากนี้ยังหาโอกาสใช้พื้นที่เหมืองที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเติบโตในธุรกิจเหมืองอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์พลังงานแห่งอนาคต
 
 
 
 
กลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้า เน้นสร้างเสถียรภาพการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าทั้งหมดด้วยดัชนีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ที่สูง และเดินหน้าเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าต่างๆ ตามแผน อีกทั้งมุ่งขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าในปัจจุบันตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ทั้งในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม สำหรับแนวทางการดำเนินการในอนาคตจะมุ่งเน้นการลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และขยายการลงทุนไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
 
 
 
กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มุ่งเน้นการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Scale Up) ขยายระบบนิเวศของธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานเพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจจากเทรนด์ด้านพลังงานใหม่ๆ รวมทั้งชูจุดเด่นการเป็นผู้ให้บริการสมาร์ทโซลูชันด้านพลังงานสะอาดที่ฉลาดขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรในธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftops) ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ (Renewable Energy Power Plant) ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System หรือ ESS) ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และธุรกิจแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) นอกจากนี้ ยังเน้นขยายพอร์ตธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน และพัฒนาศักยภาพธุรกิจใหม่ๆ ที่เหมาะกับระบบนิเวศทางธุรกิจของบ้านปู รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลในการสร้างพลังร่วมระหว่างธุรกิจเดิมกับธุรกิจใหม่ เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานในอนาคต
 
 
 
 
“ในโลกยุค Never Normal การเดินหน้าสร้างการเติบโตในฐานะผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ที่มุ่งนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานครบวงจร จะต้องทันกับตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนเทรนด์พลังงานแห่งโลกอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็ต้องยืนหยัดก้าวข้ามความท้าทายที่คาดเดาไม่ได้ 5 ปีต่อจากนี้ เราตั้งเป้าว่า ภายในปี 2568 EBITDA จากธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานของบ้านปู จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 เพื่อเดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่งในระยะยาวสู่อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Smarter Energy for Sustainability)” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย
 
 
 
 
สำหรับภาพรวมปี 2563 บ้านปูฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 2,283 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 68,575 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน 476 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 14,298 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 17 มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 563 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 16,910 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 20 จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง และรายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 56 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,682 ล้านบาท)
 
*หมายเหตุ: คำนวณโดยอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ USD 1: THB 30.0371
- Advertisement -
- Advertisement -

RELATED

- Advertisement -
- Advertisement -
- Advertisement -
- Advertisement -
- Advertisement -

Lasted

  • ปตท. รวมพลังผู้บริหารและพนักงานร่วมปรับภูมิทัศน์@คลองเปรมประชากร สร้างสวนฯให้คนเมือง
    24 เม.ย. 2567 23.49 น.
  • บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต
    24 เม.ย. 2567 23.45 น.
  • GPSC จับมือ Seaborg ศึกษาพัฒนาเทคโนโลยี SMR รุกพลังงานสะอาดสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้ระบบไฟฟ้า
    24 เม.ย. 2567 23.42 น.
  • กฟผ. - รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว Chiyoda - Mitsubishi จับมือเดินหน้า "ไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย" ในไทย
    24 เม.ย. 2567 16.26 น.
  • บางจากฯ ผนึกกำลัง SME D BANK เสริมแกร่ง SME เติมทุนคู่พัฒนา สร้างโอกาสธุรกิจในปั๊มน้ำมันบางจาก
    23 เม.ย. 2567 17.32 น.

Most Viewed

  • "อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" คว้าสุดยอดผู้นำองค์กรแห่งปี
    20 มิ.ย. 2566 21.47 น.
  • สนพ. เผยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
    22 พ.ค. 2566 18.13 น.
  • 54 ปี กฟผ. เดินหน้าผลิตไฟฟ้าสีเขียว รุกขยายโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อน
    01 พ.ค. 2566 09.50 น.
  • แม่ฮ่องสอน..สู่เมืองท่องเที่ยวสีเขียว ชู "โซลาร์ฟาร์มสมาร์ทกริด" พร้อมจ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ววันนี้
    25 พ.ค. 2566 17.14 น.
  • ‘ผลิต-ไฟฟ้าลาว’ มั่นใจผลงานปีนี้เติบโตเด่น รับดีมานด์ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคเพิ่ม
    03 พ.ค. 2566 13.56 น.